วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กติกาเซปักตะกร้อ

กติกาเซปักตะกร้อ
ของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (ISTAF)

ข้อ 1. สนามแข่งขัน (THE COURT)
1.1   สนาม พื้นที่ของสนามมีความยาว 13.40 เมตร และกว้าง 6.10 เมตร จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ วัดจากพื้นสนามสูงขึ้นไป 8 เมตร (พื้นสนามไม่ควรเป็นหญ้าหรือสนามทราย)
1.2   เส้นสนาม ขนาดของเส้นสนามทุกเส้นที่เป็นขอบเขตของสนามต้องไม่กว้างกว่า 4 เซนติเมตรให้ตีเส้นจากขอบนอกเข้ามาในสนามและถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นสนามแข่งขันด้วย เส้นเขตสนามทุกเส้นต้องห่างจากสิ่งกีดขวางอย่างน้อย 3 เมตร
1.3    เส้นกลาง มีขนาดความกว้างของเส้น 2 เซนติเมตร โดยจะแบ่งพื้นที่ของสนามออกเป็นด้านซ้ายและขวาเท่าๆกัน


1.4   เส้นเสี้ยววงกลม ที่มุมสนามของแต่ละด้านตรงเส้นกลาง ให้จุดศูนย์กลางอยู่ที่กึ่งกลางของเส้นกลาง ตัดกับเส้นขอบนอกของเส้นข้าง เขียน เส้นเสี้ยววงกลมทั้งสองด้าน รัศมี 90 เซนติเมตร ให้ตีเส้นขนาดวามกว้าง 4 เซนติเมตร นอกเขตรัศมี 90เซนติเมตร
1.5   วงกลมเสิร์ฟ ให้มีรัศมี 30 เซติเมตร โดยวัดจากขอบด้านนอกของเส้นหลังเข้าไปในสนามยาว2.45 เมตร และวัดจากเส้นข้างเข้าไปในสนามยาว 3.05 เมตร ใช้ตรงจุดตัดจากเส้นหลังและเส้นข้างเป็นจุดศูนย์กลาง ให้เขียนเส้นวงกลมขนาดความกว้าง 4 เซนติเมตร นอกเขตรัศมี 30 เซนติเมตร


ข้อ 2 เสา (THE POST)
2.1 เสามีความสูง 1.55 เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.45 เมตร) เสาให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคงพอที่จะทำให้ตาข่ายตึงได้ โดยเสาต้องทำจากวัตถุที่มีความแข็งแกร่ง และรัศมีไม่เกิน 4 เซนติเมตร
2.2 ตำแหน่งของเสา ให้ตั้งหรือวางไว้อย่างมั่นคงนอกสนามตรงกับแนวเส้นกลางห่างจากเส้นข้าง 30 เซนติเมตร


ข้อ 3 ตาข่าย (THE NET)
3.1 ตาข่ายให้ทำด้วยเชือกอย่างดีหรือไนล่อน มีรูตาข่าย กว้าง 6-8 เซนติเมตร มีความกว้างของผืนตาข่าย 70 เซนติเมตร และความยาวไม่น้อยกว่า 6.10 เมตร ให้มีวัสดุที่ทำเป็นแถบ ขนาดความกว้าง 5 เซนติเมตร ตรงด้านข้างของตาข่ายทั้งสองด้านจากบนถึงล่างตรงกับแนวเส้นข้างซึ่งเรียกว่า       “แถบแสดงเขตสนาม
3.2 ตาข่ายให้มีแถบหุ้มขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยมีลวดหรือเชือกไนล่อนอย่างดีร้อยผ่านแถบและขึงตาข่ายให้ตึงเหนือระดับเสาได้ความสูงของตาข่าย โดยวัดจากพื้นถึงส่วนบนของตาข่ายที่กึ่งกลางสนาม มีความสูง 1.52เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.42 เมตร) และวัดตรงเสาทั้งสองด้าน มีความสูง 1.55 เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.45 เมตร)



ข้อ 4 ลูกตะกร้อ (THE SEPAKTAKRAW BALL)
                ลูกตะกร้อต้องมีลักษณะเป็นลูกทรงกลม ทำด้วยหวายหรือใยสังเคราะห์ชั้นเดียว มี 12 รู กับ 20 จุดตัดไขว้ หากทำด้วยหวายต้องมีจำนวน 9-11 เส้น ขนาดของเส้นรอบวงต้องไม่น้อยกว่า 42 เซนติเมตร และไม่มากกว่า 44 เซนติเมตร (สำหรับผู้หญิง 43-45 เซนติเมตร) น้ำหนักก่อนใช้แข่งขันต้องไม่น้อยกว่า 170 กรัม และไม่เกินกว่า 180 กรัม (สำหรับผู้หญิง 150-160 กรัม)




ข้อ 5 ผู้เล่น  (THE PLAYERS)
5.1 การแข่งขันมี 2 ทีม ประกอบไปด้วยผู้เล่นฝ่ายละ 3 คน
5.2 ผู้เล่นคนหนึ่งในสามคนจะเป็นผู้เสิร์ฟ และอยู่ด้านหลัง เรียกว่า “ผู้เสิร์ฟ” (SERVER)
5.3 ผู้เล่นอีกสองคนอยู่ด้านหน้า โดยคนหนึ่งจะอยู่ด้านซ้ายและอีกคนหนึ่งจะอยู่ด้านขวา คนที่อยู่ด้านซ้าย เรียกว่า หน้าซ้าย (LEFT INSIDE) และคนที่อยู่ด้านขวา เรียกว่า หน้าขวา (RIGHT INSIDE)



ข้อ 6 เครื่องแต่งกายของผู้เล่น (PLAYER’S ATTIRE)
6.1 สำหรับชาย ต้องสวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น (สำหรับผู้หญิงให้สวมเสื้อยืดคอกลมมีแขนและกางเกงขาสั้นที่มีความยาวระดับเข่า) และรองเท้ากีฬาพื้นยาง ห้ามผู้เล่นสวมสิ่งอื่นใดที่จะเป็นอันตรายแก่ฝ่ายตรงข้ามในระหว่างการแข่งขัน กรณีที่อากาศหนาวอนุญาตให้ผู้เล่นสวมเสื้อชุดวอร์มแข่งขันได้
6.2 ส่วนต่างๆ ของเครื่องแต่งกายของผู้เล่นถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และเสื้อจะต้องอยู่ในกางเกงตลอดเวลาการแข่งขัน
6.3 สิ่งใดก็ตามที่ช่วยเร่งความเร็วของลูกตะกร้อหรือช่วยในการเคลื่อนที่ของผู้เล่น ไม่อนุญาตให้ใช้
6.4 หัวหน้าทีม (CAPTAIN) จะต้องใสปลอกแขน ที่แขนเสื้อด้านซ้าย
6.5 เสื้อของผู้เล่นทุกคนจะต้องติดหมายเลขที่ด้านหลังให้เห็นได้ชัดเจน ให้แต่ละทีมใช้หมายเลข    1-15 เท่านั้น โดยมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 19 เซนติเมตร ซึ่งกำหนดให้ผู้เล่นจะต้องมีหมายเลขเพียงหมายเลขเดียวตลอดการแข่งขัน (TOURNAMENT)


ข้อ 7 การเปลี่ยนตัวผู้เล่น (SUBSTITUTION)
7.1 ผู้เล่นคนใดที่ลงแข่งขันในแต่ละทีมหรือได้เปลี่ยนตัวไปแล้วจะไม่อนุญาตให้ลงแข่งขันในทีมอื่นๆ อีกสำหรับการแข่งขันประเภททีมชุด (TEAM) เฉพาะครั้งนั้นๆ
7.2 การเปลี่ยนตัวผู้เล่นจะกระทำในเวลาใดก็ได้ โดยผู้จัดการทีมยื่นขอต่อกรรมการประจำสนาม (OFFICIAL REFEREE) เมื่อลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น (ลูกตาย)
7.3 แต่ละทีมเดี่ยว (REGU) มีผู้เล่นสำรองไม่เกิน 2 คน แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 1 คน เท่านั้น
7.4 ผู้เล่นคนใด ถูกผู้ตัดสินให้ออกจากการแข่งขัน จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ ถ้าหากว่ายังมิได้มีการเปลี่ยนตัว
7.5 ทีมเดี่ยวใด (REGU) มีผู้เล่นน้อยกว่า 3 คน จะไม่ให้การแข่งขันดำเนินต่อไป และปรับให้แพ้การแข่งขัน


ข้อ 8 เจ้าหน้าที่ (OFFICIALS)
กีฬาเซปักตะกร้อ มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแข่งขัน ดังต่อไปนี้
8.1 กรรมการประจำสนาม 1 คน (OFFICIAL REFEREE)
8.2 กรรมการผู้ตัดสิน 2 คน (UMPIRES) (ผู้ตัดสิน 1 คน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน 1 คน)
8.3 ผู้กำกับเส้น 6 คน (LINESMEN) (กำกับเส้นข้าง 4 คน และกำกับเส้นหลัง 2 คน)


ข้อ 9 การเสี่ยงและการอบอุ่นร่างกาย (THE COIN TOSS & WARM UP)
                ก่อนเริ่มการแข่งขัน กรรมการผู้ตัดสินกระทำการเสี่ยง ผู้ชนะการเสี่ยงมีสิทธิเลือกส่งลูกหรือเลือกแดนก็ได้ ทีมที่ชนะการเสี่ยงจะเป็นทีมที่อบอุ่นร่างกายในสนามก่อนเป็นเวลา 2 นาที แล้วตามด้วยทีมที่เหลืออยู่ด้วย ด้วยลูกตะกร้อที่ใช้แข่งขัน และให้มีบุคคลอยู่ในสนามได้ 5 คนเท่านั้น


ข้อ 10 ตำแหน่งของผู้เล่นระหว่างการส่งลูก (POSITION OF  PLAYERS DURING SERVICE)
10.1 เมื่อเริ่มเล่น ผู้เล่นทั้งสองทีม ต้องยืนอยู่ในที่กำหนดไว้ในแดนของตนในลักษณะที่เตรียมพร้อม
10.2 ผู้เสิร์ฟ ต้องวางเท้าข้างหนึ่งอยู่ในวงกลมเสิร์ฟ
10.3 ผู้เล่นหน้าทั้งสองคนของฝ่ายเสิร์ฟ จะต้องอยู่ในเสี้ยววงกลมของตนเอง
10.4 ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม จะยืนอยู่ที่ใดก็ได้ในแดนของตนเอง


ข้อ 11 การเริ่มเล่นและการส่งลูก (THE START OF PLAY & SERVICE)
11.1 การเริ่มเล่น ให้ฝ่ายที่ต้องส่งลูกเป็นฝ่ายส่งลูกก่อนในเซตที่ 1 ทีมที่ชนะในเซตที่ 1 จะได้รับสิทธิ์เลือกการเสิร์ฟในเซตที่ 2
11.2 เมื่อกรรมการผู้ตัดสินขานคะแนนแล้วถือเป็นการเริ่มเล่น ผู้โยนต้องโยนลูกตะกร้อออกไปให้ผู้เสิร์ฟเสิร์ฟลูก หากผู้โยนโยนลูกตะกร้อออกไปก่อนกรรมการผู้ตัดสินขานคะแนนต้องโยนใหม่และจะต้องเตือนผู้โยนคนนั้น
11.3 ระหว่างการเสิร์ฟ ในทันทีที่ผู้เสิร์ฟได้เตะลูกตะกร้อแล้ว ผู้เล่นทุกคนสามารถเคลื่อนที่ได้ในแดนของตน
11.4 การเสิร์ฟที่ถูกต้อง เมื่อลูกตะกร้อได้ข้ามไปยังฝ่ายตรงข้ามระหว่างแถบแสดงเขตสนามไม่ว่าจะสัมผัสตาข่าย หรือไม่ก็ตาม และได้ตกสู่พื้นอยู่ในขอบเขตสนาม

ข้อ 12 การผิดกติกา (FAULTS)
12.1 สำหรับผู้เล่นฝ่ายเสิร์ฟ ระหว่างการเสิร์ฟ
12.1.1 ผู้เล่นหน้า คนทำหน้าที่โยนลูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่โยนลูกให้ผู้เสิร์ฟเตะส่งลูก เช่น โยนลูกเล่น เคาะลูกเล่น โยนลูกให้ผู้เล่นหน้าอีกคนหนึ่ง ฯลฯ หลังจากผู้ตัดสินขานคะแนนแล้ว
12.1.2 ผู้เล่นหน้า ยกเท้า หรือเหยียบเส้น หรือ ถูกตาข่ายหรือส่วนของร่างกายล้ำเข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้ามขณะที่โยนส่งลูก
                           12.1.3 ผู้เสิร์ฟ กระโดดเสิร์ฟในขณะเตะส่งลูก
                            12.1.4 ผู้เสิร์ฟ ไม่ได้เตะลูกที่ผู้โยน โยนไปให้เพื่อเสิร์ฟ
                           12.1.5 ลูกตะกร้อถูกผู้เล่นคนอื่นก่อนข้ามตาข่าย
                           12.1.6 ลูกตะกร้อข้ามตาข่ายแล้วตกนอกเขตพื้นที่สนาม
                           12.1.7 ลูกตะกร้อไม่ข้ามตาข่าย
12.2 สำหรับผู้เล่นฝ่ายรับระหว่างการเสิร์ฟ เจตนากระทำในลักษณะทำให้ฝ่ายเสิร์ฟเสียสมาธิ หรือส่งเสียงรบกวน หรือร้องตะโกน
12.3 สำหรับผู้เล่นทั้งสองฝ่ายระหว่างแข่งขัน
                           12.3.1 ถูกลูกตะกร้อในแดนฝ่ายตรงข้าม
                           12.3.2 ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายล้ำเข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นด้านบน หรือด้านล่างของตาข่าย ยกเว้นการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง (FOLLOW THROUGH ) ภายหลังการเล่นลูก 
                           12.3.3 เล่นลูกเกินกว่า 3 ครั้ง
                           12.3.4 ลูกถูกมือ หรือแขน
                            12.3.5 หยุดลูกหรือยึดลูกไว้ใต้แขน ระหว่างขาหรือลำตัว
                             12.3.6 ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย หรืออุปกรณ์ของเครื่องแต่งกายผู้เล่น เช่น รองเท้า เสื้อ ผ้าพันศีรษะ ฯลฯ ถูกตาข่าย หรือเสา หรือเก้าอี้ผู้ตัดสิน หรือตกลงบนพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม
                           12.3.7 ลูกตะกร้อถูกเพดาน หลังคา หรือผนัง หรือสิ่งกีดขวางอื่น
                            12.3.8 ผู้เล่นถ่วงเวลาโดนเจตนา


ข้อ 13 การนับคะแนน (SCORING SYSTEM)
                13.1 ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสิร์ฟ หรือฝ่ายรับก็ตาม เมื่อมีการทำผิดกติกาเกิดขึ้น (FAULT) ฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนนทันทีและจะเป็นฝ่ายเสิร์ฟต่อไป
                13.2 ทีมที่ชนะการแข่งขันในแต่ละเซต จะต้องทำคะแนนได้ 21 คะแนน แต่ถ้าคะแนนเท่ากันที่ 20-20 ผู้ชนะ จะต้องมีคะแนนต่างกัน 2 คะแนน และคะแนนสูงสุดไม่เกิน 25 คะแนน เมื่อคะแนน 20 เท่า ผู้ตัดสินต้องขานว่า “ดิวส์คู่ไม่เกิน25 แต้ม
                13.3 การแข่งขันจะต้องชนะกัน 2 เซต โดยมีการพักระหว่างเซต 2 นาที
                13.4 ถ้าแต่ละทีมชนะกันทีมละ 1 เซต จะต้องทำการแข่งขันในเซตที่ 3 ซึ่งเรียกว่า           “ไทเบรค” (TIEBREAK) โดยแข่งขัน 15 คะแนน แต่ถ้าคะแนนเท่ากันที่ 14-14 ผู้ชนะจะต้องมีคะแนนต่างกัน 2 คะแนน และคะแนนสูงสุดไม่เกิน 17คะแนน เมื่อคะแนน 14 เท่า ผู้ตัดสินต้องขานว่า  “ดิวส์คู่ไม่เกิน 17 แต้ม
                13.5 ก่อนเริ่มการแข่งขันในเซตที่ 3 ผู้ตัดสินต้องทำการเสี่ยง ผู้ชนะในการเสี่ยงมีสิทธิเลือกการเสิร์ฟ และให้มีการเปลี่ยนแดนเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ 8 คะแนน


ข้อ 14  การขอเวลานอก (TIME OUT)
                แต่ละทีม (REGU) สามารถขอเวลานอกได้เซตละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 นาที โดยให้ผู้จัดการทีม หรือผู้ฝึกสอน ขอเวลานอกต่อกรรมการผู้ตัดสิน เมื่อลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น และให้มีบุคคลในระหว่างการขอเวลานอกได้ 5 คน ที่บริเวณท้ายสนามของแต่ละด้าน


ข้อ 15 อุบัติเหตุและการหยุดการแข่งขัน (TEMPORARY SUSPENSION OF  PLAY)
                15.1 กรรมการผู้ตัดสินสามารถหยุดการแข่งขันได้ไม่เกิน 5 นาที เนื่องจากมีสิ่งกีดขวาง หรือรบกวนการแข่งขัน หรือผู้เล่นเกิดการบาดเจ็บ และต้องได้รับการดูแลในทันที
                15.2 การหยุดพักสำหรับผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บถือเป็นเวลานอกสำหรับการบาดเจ็บ อนุญาตให้หยุดพักการแข่งขันได้ไม่เกิน 5 นาที ภายหลังจากหยุดพัก 5 นาทีแล้ว ผู้เล่นคนนั้นไม่สามารถทำการแข่งขันต่อไปได้จะให้ทำการเปลี่ยนตัวผู้เล่นนั้น ถ้าหากกรณีที่ได้เปลี่ยนตัวผู้เล่นไปแล้วให้ปรับทีมนั้นแพ้ และให้ฝ่ายตรงข้ามชนะในการแข่งขันครั้งนี้
                15.3 ในระหว่างการหยุดการแข่งขัน ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในสนามแข่งขัน และไม่อนุญาตให้ดื่มน้ำ หรือได้รับการช่วยเหลือใดๆ


ข้อ 16 วินัย และมารยาทในการแข่งขัน (DISCIPLINE)
16.1 ผู้เล่นทุกคนต้องปฏิบัติตามกติกาการแข่งขัน
16.2 ในระหว่างการแข่งขันจะอนุญาตให้หัวหน้าทีมเท่านั้นที่เป็นผู้ติดต่อหรือซักถามต่อกรรมการผู้ตัดสิน


ข้อ 17 ความผิด และบทลงโทษ (PENALTY)
17.1 ความผิดที่ถูกตักเตือน
ผู้เล่นที่กระทำผิดจะถูกเตือน และได้รับบัตรเหลืองใน 6 กรณีดังต่อไปนี้
                           17.1.1 ปฏิบัติตนไม่มีน้ำใจนักกีฬา
                           17.1.2 แสดงกิริยา และวาจา ที่ไม่สุภาพ
                           17.1.3 ไม่ปฏิบัติตามกฎ กติกาการแข่งขัน
                           17.1.4 ถ่วงเวลาการแข่งขัน
                           17.1.5 เข้าหรือออกนอกสนาม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
                           17.1.6 เจตนาเดินออกไปจากสนาม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
17.2 ความผิดที่ถูกให้ออกจากการแข่งขัน
ผู้เล่นที่กระทำความผิดให้ออกจากการแข่งขัน และได้รับบัตรแดงมี 5 กรณี ดังต่อไปนี้
                           17.2.1 กระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง
                           17.2.2 ประพฤติผิดร้ายแรงโดยเจตนาทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ
                           17.2.3 ถ่มน้ำลายใส่ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้อื่น
                            17.2.4 ทำความผิดอย่างร้ายแรง โดยสบประมาทหรือดูถูก และแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมไปยังฝ่ายตรงข้าม
                           17.2.5 ได้รับการเตือนด้วยบัตรเหลืองเป็นครั้งที่ 2 ในการแข่งขันครั้งนั้น
17.3 ผู้เล่นที่กระทำผิดถูกตักเตือนหรือให้ออกจากการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดทั้งในหรือนอกสนามแข่งขัน ที่กระทำต่อคู่แข่งขัน ผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน กรรมการผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน หรือบุคคลอื่นๆ ให้พิจารณาลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำขึ้น


ข้อ 18 ความผิดของเจ้าหน้าที่ทีม (MISCONDUCT OF TEAM OFFICIALS)
                ในระหว่างการแข่งขัน หากทีมหรือเจ้าหน้าที่คนใดกระทำผิดเกี่ยวกับทางวินัยและมารยาท ทั้งในและนอกสนามแข่งขัน เจ้าหน้าที่ทีมหรือทีมนั้นๆ จะต้องถูกพิจารณาลงโทษทางวินัย และมารยาท


ข้อ 19 บททั่วไป (GENERAL)
                ในการแข่งขันหากมีปัญหาหรือเรื่องราวใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในทุกกรณี ซึ่งนอกเหนือจากที่มิได้ระบุไว้ในกติกาข้อใดๆ ของการแข่งขัน ให้ถือคำตัดสินของกรรมการประจำสนามเป็นที่สิ้นสุด






วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ไกรทอง

ไกรทอง


เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดพิจิตรซึ่งมีถ้ำอยู่ในแม่น้ำแห่งหนึ่งและถ้ำนั้นก็เป็นถ้ำของจระเข้กล่าวกันว่าในถ้ำมีลูกแก้ววิเศษซึ่งส่องประกายแวววาวทำให้บริเวณถ้ำนั้นสว่างไสวอยู่เป็นนิตย์ ดุจเวลากลางวันเลยทีเดียว เมื่ออยู่ในถ้ำจระเข้ทุกตัวก็จะกลายร่างเป็นร่างเป็นมนุษย์ได้และจะไม่รู้สึกหิวอะไรเลย ภายในถ้ำ
มีพญาจระเข้ผู้เฒ่าอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า ท้าวรำไพ เป็นราชาแห่งจระเข้ที่ไม่ยอมกินสิ่งมีชีวิตและบำเพ็ญตนถือศีลมาเป็นเวลานาน จระเข้ผู้เฒ่านี้มีบุตรอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า ท้าวโคจร และท้าวโคจรเองก็มีบุตรตัวหนึ่งชื่อว่า ชาละวัน ในเวลาต่อมาท้าวโคจรเกิดทะเลาะวิวาทกับพญาจระเข้ด้วยกันชื่อ ท้าวพันตาและพญาพันวัง ทั้งสามต่อสู้กัน เพื่อชิงความเป็นใหญ่น้ำแต่ผลปรากฏว่า ทั้งสามต้องมาจบชีวิตลงจากบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้กันนั้น ดังนั้นพญาชาลาวัน จึงได้ครอบครองความเป็นใหญ่ในถ้ำโดยไม่มีใครกล้าท้าทายอำนาจหลังจากนั้นก็ได้นางจระเข้สองตัวเป็นภรรยา คือ นางวิมาลา และนางเลื่อมลายวรรณ โดยธรรมชาติของสัตว์กินเนื้อ ถึงแม้ว่ามันจะกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ก็ตามที พญาชาละวันก็ยังมีนิสัยดุร้าย และชอบกินเนื้อมนุษย์ไม่เหมือนกับจระเข้ที่เป็นปู่ของตน พญาจระเข้ตัวใหม่นี้ไม่รักษาศีลแต่อย่างใด
วันหนึ่ง พญาชาละวันออกมาจากถ้ำเพื่อหาเนื้อมนุษย์กินเป็นอาหาร ได้ว่ายตามน้ำมาจนถึงท่าน้ำเมืองพิจิตรเวลานั้นสองสาวพี่น้องคือ ตะเภาแก้วและตะเภาทอง บุตรสาวของเจ้าเมืองพิจิตรกำลังลงเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำหน้าบ้านของตนอยู่พอดี สองพี่น้องห้อมล้อมด้วยบ่าวไพร่หลายคนความงามของตะเภาทองเป็นที่ต้องตาต้องใจของชาละวันมาก มันเกิดความรักในมนุษย์ขึ้นมาในทันที เจ้าสัตว์ร้ายเปลี่ยนใจทันทีจากความต้องการที่จะกิจเนื้อเหยื่อกลับกลายเป็นรักเหยื่อดังนั้นมันจึงว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหญิงสาวแล้วคาบนางไว้ท่ามกลางความตกตะลึงของบ่าวไพร่ ชาละวันคาบหญิงสาวผู้ไร้เดียงสาไปสู่ถ้ำของตนในทันที
ในขณะที่ถูกคาบอยู่ในปากตะเภาทองสลบไสลไม่ได้สติ ชาละวันทำการแก้ไขจนกระทั่งนางฟื้น ครั้นลืมตาขึ้นนางก็ต้องตกใจที่ ได้พบกับถ้ำอันวิจิตรตระการตายิ่งนัก เมื่อนางเห็นชาละวันผู้ซึ่งตอนนี้ได้กลายร่างเป็นมนุษย์แล้ว นางก็รู้สึกขวยเขินที่ได้เห็นชายหนุ่มรูป  งาม ฝ่ายชาละวันก็จัดการเกี้ยวพาราสีนางจนกระทั่งนางหลงรักและตกเป็นภรรยาคนที่สามของชาละวันไป และนับจากนั้นมาก็เริ่มมีการ  ทะเลาะวิวาทในระหว่างภรรยาทั้งสามของชาละวันอยู่เป็นประจำ
ในขณะเดียวกัน หลังจากได้ทราบข่าวที่ทำให้ตกตะลึงนี้แล้ว เจ้าเมืองพิจิตรก็เกิดวิตกกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกสาวตน และ แค้นเคืองเจ้าสัตว์ร้าย เพื่อกำจัดเจ้าจระเข้ร้ายเสีย ท่านเจ้าเมืองจึงป่าวประกาศว่าผู้ใดก็ตามสามารถสังหารจระเข้ได้และสามารถนำลูกสาวของตนกลับมา ในขณะมีชีวิต จะได้แต่งงานกับนางและได้ส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัติของตน
ขณะนั้นมีชายหนุ่มวัยแตกพานอายุ 18 ปี อยู่คนหนึ่งชื่อว่า “ไกรทอง” เป็นชาวจังหวัดนนทบุรีได้คุมเรือไปทำการค้าขายอยู่ที่เมืองพิจิตร และได้ถือโอกาสเล่าเรียนวิชาอาคมกับอาจารย์ที่นั่นเขามีความชำนาญในการปราบจระเข้และสามารถระเบิดน้ำเป็นทางเดินเข้าไปได้    เมื่อไกรทองรู้ข่าวการประกาศให้รางวัล เขาก็อาสาปราบจระเข้โดยไม่รีรอ ก่อนอื่นเขาไปพบอาจารย์และเล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับการพจญภัยในครั้งนี้ อาจารย์ของเขาจึงได้ทำการตรวจดู ดวงชะตาราศีและตรวจดูฤกษ์ยามเห็นว่าไกรทองจะต้องมีชัยชนะในการพิชิตจระเข้ร้ายได้อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากจระเข้ร้ายมีเขี้ยวแก้ว จึงไม่มีอาวุธใดที่จะระคายผิวของมันได้ อาจารย์จึงได้มอบของวิเศษ 3 อย่างให้ไกรทองไปซึ่งก็ได้แก่ เทียนชัย ใช้จุดระเบิดน้ำเป็นทางเดินไปจนถึงที่หมาย มีดหมอลงอาคม และหอกสัตตะโลหะ พร้อมให้พรให้ไกรทองประสบชัยชนะ           
ฝ่ายชาละวันหลังจากได้ตะเภาทองเป็นภรรยาคนที่สามแล้ว คืนวันหนึ่งได้ฝันว่าเกิดมีไฟไหม้ขึ้น และ มีเทวดาผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ใช้พระขรรค์ตัดคอตนขาดกระเด็น หลังจากตื่นขึ้นก็ตกใจรีบไปปรึกษาปู่ของตน คือท้าวรำไพผู้ซึ่งรู้ได้ทันทีว่าหลานของตนกำลังตกอยู่ในอันตราย จึงสั่งให้ชาละวันจำศีลอยู่ในถ้ำเป็นเวลา 7 วัน เพราะถ้าเขาขืนออกไปก็จะต้องประสบกับอันตรายอย่างแน่แท้ ชาละวันเกิดความกลัวจึงสั่งให้บริวารจระเข้นำหินมาปิดปากถ้ำไว้อย่างแน่นหนา และเริ่มถือศีลตามคำแนะนำของจระเข้ผู้เป็นปู่
ในขณะเดียวกันหลังจากกล่าวลาผู้เป็นอาจารย์แล้ว ไกรทองก็ต่อแพลอยลงน้ำและประกอบพิธีเรียกราชาแห่งจระเข้มาต่อสู้กัน ชาวบ้านที่อยากดูเหตุการณ์เมื่อรู้ข่าวการล่าพญาจระเข้ทั้งอยู่ใกล้ไกลก็แห่กันมาดูเหตุการณ์อยู่บนฝั่งแม่น้ำอย่างใจจดใจจ่อและถึงแม้ว่าพญาชาละวันจะพยายามปกป้องชีวิตของตนอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหนีโชคชะตาไปได้ ดังนั้นพิธีของไกรทองจึงทำให้ชาละวันรู้สึกเร้าร้อนเหมือนถูกไฟเผา เมื่อสุดจะทนไหวแล้วชาละวันก็ลืมคำสั่งของผู้เป็นปู่เสียสนิท พญาชาละวันจึงแผลงฤทธิ์พังประตูถ้ำออกมาแล้วโผล่ขึ้นเหนือน้ำกลายเป็นจระเข้ใหญ่น่ากลัว แม่น้ำที่สงบเงียบก็ปั่นป่วยด้วยฤทธิ์ของสัตว์ร้าย ทันทีที่ทั้งคู่เผชิญหน้ากันก็เกิดการต่อสู้กันชุลมุนท้ายที่สุดไกรทองก็แทงสัตว์ร้ายเข้าที่ใต้ราวนมด้วยหอกสัตตะโลหะทันใดนั้นทั่วทั้งลำน้ำก็กลับกลายเป็นสีแดงฉานพร้อมทั้งกลิ่นคาวเลือด เพื่อปกป้องชีวิตของตนไว้ พญาชาละวันจึงหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำใต้น้ำ แต่ว่าไกรทองไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้นเขาตามคู่ต่อสู้ลงไปในถ้ำ โดยจุดเทียนชัยระเบิดน้ำเป็นทางลงไปใต้น้ำ
เมื่อเข้าไปในถ้ำไกรทองเห็นวิมาลา ภรรยาของชาละวันก็แกล้งทำเป็นเข้าไปลวนลามเพื่อให้นางส่ง เสียงจะได้ยั่วให้สัตว์ร้ายที่กำลังได้รับบาดเจ็บออกมาที่ซ่อนชาละวันเองเข้าไปหาปู่ของตนเพื่อให้ช่วยรักษาบาดแผลให้ แต่ว่าจระเข้เฒ่าไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เพราะชาละวันไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ เสียงหวีดร้องของภรรยาทำให้เจ้าสัตว์ร้ายเดือดดาลยิ่งนักถึงกับออกมาจากที่ซ่อนแต่ก็มาถูกแทงตายอยู่ตรงนั้นเอง ไกรทองสามารถช่วยตะเภาทองออกมาได้และนำนางขึ้นสู่เหนือผิวน้ำท่ามกลางเสียงโห่ร้องฝูงชน
ด้วยความดีใจอย่างสุดซึ้ง ท่านเจ้าเมืองพิจิตรจึงมอบรางวัลให้ไกรทองตามสัญญาพร้อมกับยกลูกสาวอีกคนหนึ่งคือตะเภาแก้วให้เป็นภรรยาของไกรทองด้วย ดังนั้นไกรทองจึงได้สองพี่น้องเป็นภรรยาพร้อมกับสมบัติอีกส่วนหนึ่งจากท่านเจ้าเมือง ทั้งสามจึงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองพิจิตรอย่างมีความสุข และเรื่องไกรทองนี้ก็นำมาเล่าสู่กันฟังซ้ำอีกทั่วทั้งประเทศ

ตำนานรักเจ้าแม่สามมุข

ตำนานรักเจ้าแม่สามมุข


            ในอดีตการที่ยาวนานกว่า 100 ปี สมัยปลายปีกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวขาลกันมาว่าในอดีตนั้น ทะเลชายหาดบางแสนและ เขาสามมุขนั้น ไม่เป็นเหมือน สภาพดังปัจจุบันนี้ แต่ก่อนนั้นไม่มีบ้านเรือนมากมาย ไม่มีถนนหนทาง สะดวกสบายอย่างนี้ ส่วนชื่อบางแสนและเขาสามมุข ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่ชาวบ้านพื้นเพนั้น จะเรียกกันว่า บางอ่างหิน หรือ ตำบลอ่างศิลาในปัจจุบัน เหมือนกับชื่อบางแสนเช่นกัน ที่ชาวบ้านในยุคนั้นประสบพบปัญหาชีวิตรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่อยู่ต่างเขตกันและถูกกีดกันของผู้เป็นพ่อ จึงทำให้ทั้งสองต้องมาลงเอยด้วยการกระโดดเขาฆ่าตัวตายตามที่ได้สาบานต่อกันไว้ที่หน้าเขาแห่งนี้ หลังจากที่ทุกสิ่งทุกอย่างจบลง กำนัน บ่ายได้ถูกชาวบ้านต่อว่า จึงสำนึกผิดที่ได้ทำต่อบุคคลที่ตนรักยิ่ง ด้วยความอาดูลย์ไม่มีการบาดหมางซึ่งกันและกัน เพื่อความรักของผู้เป็นลูก ชาวบ้านจึงตั้ง ชื่อว่า บางแสน หรือ ตำบล แสนสุข นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สมัยนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ ริมทะเล เพื่อทำอาชีพประมง บางรายก็มีถานะดีบางรายก็ยากจน ส่วนเรื่องที่จะกล่าวมานี้นั้น เดิม นายบ่ายนั้นจะมีคนนับน่าถือตา เพราะมีถานะร่ำรวย ทำการประมงเป็นเจ้าของโป๊ะหลายแห่ง จนชาวบ้านยกให้เป็นผู้นำ และยกถานะ เป็นกำนันในสมัยนั้น นายบ่าย หรือกำนันบ่าย นั้น มีลูกชาย ชื่อว่า นายแสน ที่เป็นลูกชายสุดที่รักเพียงคนเดียว ที่ได้เป็นต้นเรื่องของตำนานรักอัมตะ กับหญิงสาว ที่ชื่อ มุข ที่อาศัยอยู่กับยาย นามใดนั้นไม่ปรากฏ ส่วนบิดา มารดา ของ สาวมุข นั้นได้สูญหายไปเมื่อตอนยังเล็ก แต่ด้วยสาเหตุใดก็ยังไมปรากฏเช่นกัน จนอยู่มาวันหนึ่ง นายแสน พร้อมเพื่อนคู่หู ชื่อ นายเผือก และนายดำ นั้น ชอบเล่นว่าว และนำมาเล่นที่ชายหาด เป็นประจำ จนอยู่มาวันหนึ่ง ที่ทำให้ หนุ่ม สาวทั้งสองมาพบกันโดยบังเอิญ เนื่องจาก ว่าวที่ นายแสน เล่นนั้นเกิดขาด แล้วลอยมาที่หน้าบริเวณเขาสามมุข ที่เป็นที่อยู่ ของ สาวมุข พอดี นายแสน จึงได้ชวนเพื่อนทั้งสองวิ่งตามว่าวที่หลุดลอยมา จนมาเจอะว่าว ของตนเองอยู่ในมือ ของ สาวมุข แล้วได้ขอคืน แต่สาวมุขไม่ยอมคืนกับเดินหนีหลังจากนั้นได้นำว่าวตัวดังกล่าวไปซ่อมแต่ไม่กล้าเล่นเกรงว่าจะขาด จน นายแสนและเพื่อนเดินมาเที่ยวและเห็น สาวมุข ถือว่าวที่เป็นของตนไว้ จึงได้ชวนเล่นเพราะเห็นว่า ไม่มีเพื่อน จนกระทั่งทั้ง สอง เริ่ม สนิทสนมและคบหากันนับตั้งแต่นั้นมา จนทำให้เกิดความผูกพัน จนกายความรัก โดยที่ผู้เป็นพ่อนั้นไม่รู้เรื่องราวของลูกชายที่เป็นสุดที่รัก จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเรื่อง ของทั้งสอง มารู้ถึงผู้เป็นพ่อ และทำให้ นายบ่าย เกิดความไม่พอใจ เนื่องจากรู้มาว่า สาวมุขนั้นยากจน จึงได้กีดกันห้ามปรามไม่ให้ทั้งสองคบหากัน และได้ หาหญิงสาว ชาวบ้านในบางเดียวกันให้กับลูกชายและมีถานะใกล้เคียงกัน แต่ นายแสน กับไม่ชอบและแอบมาพบ สาวมุขเป็นประจำ จนถึงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งทั้งสองได้ให้สัญญาคำมั่นซึ่งกันและกันว่า จะรักกันตราบนานเท่าชีวิต และจะไม่พรากจากกัน หากผิดคำสัญญาจะขอลาตายโดยการกระโดดเขาแห่งนี้ เมื่อกำนันบ่าย มารู้อีกครั้งว่า นายแสน แอบมาหา สาวมุข จึงได้ให้เพื่อนไปจับตัวมากักขัง แล้วไปสู่ขอสาวให้กับลูกชาย พร้อมกับบังคับถ้าไม่เชื่อก็จะตัดลูกตัดพ่อกัน จนทำให้ นายแสนท้อใจ ที่ไม่สามารถทำใจตนเองได้ จนถึงวันใกล้แต่งงาน เพื่อนๆสาว ของมุขได้มาบอกว่า นายแสนที่ตนชื่นชอบนั้นกำลังจะแต่งงานแล้วซึ่งทำให้ สาวมุขไม่เชื่อพร้อมมาหา นายแสนในวันแต่งงานพร้อมกับคืนแหวนให้ด้วย หลังจากนั้นได้มาที่หน้าเขา แห่งนี้เพื่อระลึกถึงวันที่ตนได้ให้สัญญากับคนรักไว้ ก่อนที่จะกระโดดลงมาตาย หลังจากที่ สาวมุขได้คืนแหวนนั้น นายแสนได้วิ่งออกจากงานเพื่อตามหาสาวมุข โดยรู้ว่าตนจะต้องมาที่ใด แต่ก็สายไปเสียแล้ว เมื่อเห็นร่างของสาว มุข นอนตายอยู่ข้างร่าง จึงได้ตัดสินใจกระโดดตายตามหญิงสาวคนรักไปอีกคน ทำให้ผู้เป็นพ่อ คือ กำนันบาย ที่วิ่งตามมาเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เสียใจเป็นยิ่งนักที่ทำให้ลูกชายต้องมาตาย เพราะความเห็นแก่ตัวของตัวเอง จึงได้ทำบุญส่วนกุศลให้กับคนทั้งสองและ ต้องตอมใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านต่างสงสารหนุ่มสาวทั้งสอง เวลาพลบค่ำ ชาวบ้านที่ผ่านไปมามักจะเห็นร่างของหนุ่มสาวทั้งสองมายืนที่หน้าเขาลูกนี้ประจำ จนเป็นที่กล่าวขาลนับตั้งแต่นั้นเป็นตนมาจนชาวบ้าน ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า เขาสามมุขพร้อมกับตั้งศาลเพียงตาไว้ให้ ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านเห็นก็คือ ชายหาดบางแสน ที่ผู้เป็นพ่อได้ตั้งศาลเพียงตาไว้ยามคิดถึงลูกชาย 

สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า ความรักของบุคคลทั้งสองนั้น สักสิทธิ์ ก็คือ เวลาออกหาปลากลางทะเลนั้น ชาวบ้านจะนำปะทัดมาจุดเพื่อขอให้ช่วยในการทำมาหากินและแคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง โดยเฉพาะลมพายุ ที่ชาวบ้านมักจะโดนบ่อยๆ แม้กระทั้ง ท่านสุนทรภู่ ก็ยังเคยมาแล้ว ครั้งที่ท่านเดินทาง จากกรุงเทพโดยทางเรือแล้วแล่นผ่านพื้นที่แห่งนี้ เพื่อจะไปเยี่ยมบิดา ที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในระหว่างนั้นได้เกิดลมพายุอย่างแรง จนเรือไม่สามารถขวบคุมได้ จึงได้มองมาที่เขาแห่งนี้ และเคยได้ยินประวัติความเป็นมาจากชาวบ้านบ่อยๆ จึงได้เอ่ยคำบนบาลเจ้าแม่สามมุขขอให้ตนและลูกเรือปลอดภัย จากลมพายุหลังจากนั้นไม่นานลมก็สงบลง จนเป็นที่น่าแปลกใจ หลังจากนั้น ท่านสุนทรภู่ ได้เขียนนิราศพรรณนา ถึงความ สักสิทธิ์ ของเจ้าแม่เขาสามมุข ไว้ในหนังสือภาษาไทย มัธยมปลาย เมื่อคราวเสด็จไป เมืองแกลง ครั้งแรกปี พ.ศ. 2350 ดังนี้ว่า

*** พี่แข็งขืนฝืนภาวนานิ่ง แลดูยิ่งไรยังไกลเหลือ
เห็นเกินรอยบางปลาสร้อยอยู่ท้ายเรือ คลื่นก็เผื่อฟูมฟองคะนองพราย
เห็นจวนจนบนเจ้าเขาสามมุข จงช่วยทุกข์ถึงที่จะทำถวาย
พอขาดคำน้ำขึ้นดั่งคลื่นคลาย ทั้งสามนายหน้าชื่นค่อยเฉื่อยชา ***

                หลังจากนั้นท่านได้ทำตามที่เอ่ยวาจากล่าวบนไว้ โดยนำสิ่งของมาแก้บน และครั้งคราใดที่วิ่งผ่านสถานที่แห่งนี้ก็จะแวะเวียนมาอยู่ล่ำไป 
ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูล สงคราม ได้มีโครงการระเบิดหน้าผา เขาสามมุข แห่งนี้เพื่อทำถนนรอบเขา เพื่อใช้สัญจร มากราบไหว้ได้ จึงทำให้เข้าสามมุขแห่งนี้เตี้ยลงกว่าเดิมและหินได้หล่นลงมาทับปิดปากถ้ำพร้อมศาลที่มีอยู่เดิม พังเสียหาย หลังจากนั้นไม่นานเหล่าคนงานสร้างถนน ก็เกิดเหตุการณ์ ต่างๆต้องล้มป่วยกันเป็นแถว จนไม่สามารถทำงานต่อได้ จนเดือดร้อนต้องรีบทำการแก้บนขอขมาต่อศาลเจ้าแม่เขาสามมุข และได้ สร้างศาลให้ใหม่ หลังจากนั้นจึงทำงานต่อไปได้จนแล้วเสร็จ จนมีนักท่องเที่ยว ที่ได้รู้ประวัติต่างมาเที่ยวชม และขอพรจากเจ้าแม่เขาสามมุขกลับไป เมื่อสัมฤทธิ์ผล ก็จะนำสิ่งของมากราบไหว้ โดยเฉพาะสิ่งที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้น จะเป็น มะพร้าวอ่อน ขนมครก ว่าวและผลไม้ พวงมาลัย จนมาในยุคหลังได้นำภาพยนตร์กลางแปลงมาฉายแก้บน หรือลิเก ส่วนหนึ่งที่อยู่คู่กับเขาแห่งนี้มาโดยตลอดก็คือ บริวาร ของเจ้าแม่เขาสามมุขแห่งนี้ก็คือลิง ที่จะอาศัยอยู่รอบๆเขา หากมีใครมารังแกหรือจับลูกลิงไปเลี้ยงโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีอันเป็นไปเดือดร้อนถึงครอบครัวที่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อที่เดียว จะต้องรีบกับนำมาคืนไว้ที่เดิม ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับฝูงลิงที่ได้จับไป เนื่องจากเข้ากับฝูงลิงอื่นไม่ได้ทั้งๆที่เป็นพวกของมันเอง เพราะฉะนั้นหากท่านใดที่คิดจะจับลูกลิงไปเลี้ยงขอให้พิจารณาถึงข้อนี้ด้วย บางครั้งผู้ที่นำลิงมาคืนกับต้องส่งมันมาตายเพราะโดนทำร้ายจากฝูงลิงที่ไม่ยอมรับตัวมันเองด้วยเหมือนกัน


พญากง พญาพาน

พญากง พญาพาน 


              พญากงเป็นเจ้าเมืองนครชัยศรี มีพระมเหสีรูปโฉมงดงามเมื่อพระมเหสีทรงพระครรภ์โหรหลวงได้ทำนายว่าจะได้พระราชโอรสเป็นผู้มีบุญ และจะได้เป็นใหญ่ภายหน้า แต่จะเป็นผู้ฆ่าพระราชบิดาเมื่อครบ กำหนดพระมเหสีก็ประสูติพระกุมาร ขณะที่ข้าราชบริพารได้เอาพานไปรองรับ บังเอิญหน้าผากของพระกุมาร
                กระทบขอบพานเป็นแผล พญากงได้สั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งตามยถากรรม ยายหอมไปพบเข้านำไปเลี้ยงไว้ และตั้งชื่อว่า พาน ครั้นพานโตขึ้นยายหอมก็นำไปฝากให้เล่าเรียนที่วัดโคกยายหอม พานเป็นเด็กฉลาด สมภารวัดผู้เป็นอาจารย์จึงรักใคร่เอ็นดูมีวิชาอะไรก็สอนให้หมด
อาจารย์ได้นำพานไปฝากให้เข้ารับราชการกับพระยาราชบุรี ที่เมืองราชบุรี พานเป็นคนปัญญาดี เรียบร้อยและขยัน จึงเป็นที่โปรดปรานของพระยาราชบุรีมาก จนถึงกับรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม สมัยนั้น เมืองราชบุรีขึ้นกับเมืองนครชัยศรี พระยาราชบุรี ต้องส่งเครื่องบรรณาการทุกปี พญาพานเป็นผู้มีฝีมือในการรบจึงชักชวน ให้พระยาราชบุรีแข็งเมืองยกกองทัพไป ปราบพญายาพานเป็นแม่ทัพออกไป รบกับพญายากง ทั้งสองทำยุทธหัตถีกัน ในที่สุดพญากงก็ถูกฟันด้วยของ้าวคอขาดตายในที่รบ เมื่อพญายาพานเข้ายึดเมืองนครชัยศรีได้แล้ว ย่อมได้ทั้งราชสมบัติตลอดจนพระมเหสีของพญายากงด้วย แต่ในขณะที่จะเข้าไปหาพระมเหสีนั้น เทวดาได้แปลงกายเป็นแมวแม่ลูกอ่อนให้ลูกกินนมขวางประตูไว้ แล้วร้องทักเสียก่อน พญายาพานจึงได้อธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นแม่ของตนจริงก็ขอให้มีน้ำนมไหลซึมออกมา ก็เห็นน้ำนมไหลออกมาจริง จึงได้รู้ว่าทั้งสองเป็นแม่ลูกกัน พญายาพานต้องทำปิตุฆาตฆ่าพระราชบิดา เพราะยายหอมปิดบังความจริงไม่บอกให้รู้ ด้วยโทสะจริต เข้าครอบงำและกรรมนั้นบังตา ทำให้ขาดการยั้งคิด จึงสั่งให้นำยายหอมไปฆ่าเสีย ต่อมาด้วยความสำนึกผิด ที่ได้ฆ่าพระราชบิดาและยายหอมผู้มีพระคุณ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงชั่วนกเขาเหิน คือ องค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ฆ่าพระราชบิดาให้บรรเทาลงบ้าง และสร้างพระประโทนเจดีย์ เพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม

แก้วหน้าม้า

แก้วหน้าม้า


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า มิถิลาเมืองนี้ปกครองโดยกษัตริย์ทรงพระนามว่า ภูวดลมงคลราช พระองค์มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางนันทา ทั้งสองพระองค์ มีพระโอรสทรงพระนามว่า ปิ่นทองพระนครเจริญรุ่งเรืองและสงบสุข
ในเมืองนี้มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกสาวหน้าตาคล้ายม้า ก่อนคลอดมารดาของนางฝันว่ามีเทวดานำแก้วมาให้นาง ดังนั้นนางจึงตั้งชื่อลูกสาวของนางว่า มณี หรือ แก้วหน้าม้าและถึงแม้ว่านางจะมีหน้าหน้าประหลาด นางก็มีความเฉลียวฉลาด มีมนต์วิเศษสามารถทำนายดินฟ้าอากาศได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น นางจึงสามารถบอกให้ชาวนาปลูกพืชผลตรงตามสภาพดินฟ้าอากาศ ความรู้ของนางไม่ได้นำมาซึ่งความมั่นคงแต่เฉพาะครอบครัวของนางเท่านั้น แต่งยังรวมไปถึงชุมชนทั้งหมดอีกด้วย
วันหนึ่ง เจ้าชายปิ่นทองทรงปล่อยว่าวตัวโปรดขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งก็เกิดขาดลอยตามลมมาตกลงเบื้องหน้าของแก้วพอดี เมื่อนางเห็นว่าวรูปร่างลักษณะดีก็ตัดสินใจยึดเป็นของตนเองแต่เพียงอึดใจต่อมา ข้าราชบริพาร ของเจ้าชายก็มาถึงและขอว่าวคืน แก้วปฏิเสธที่จะให้พวกเขา และยืนกรานที่จะคืนให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของเท่านั้น เมื่อเจ้าชายเสด็จมาถึงที่นั้นและได้ยินแก้วพูดก็ทรงโกรธมาก และคิดว่าหญิงผู้นี้พูดจาโยกโย้น่ารำคาญ พระองค์เกลียดนางยิ่งนักเมื่อเห็นนางมีใบหน้าที่ประหลาด แต่ด้วยความที่อยากได้ว่าวของตนคืนจึงแกล้งทำดีกับนางไปอย่างนั้นเอง 
เจ้าชายสัญญาจะให้รางวัลแก่นางอย่างงาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับว่าวตัวโปรดของพระองค์ แต่แก้วปฏิเสธ ที่จะรับสิ่งใด ๆ นางต้องการให้เจ้าชายอภิเษกสมรสกับนาง แล้วนำนางไปอยู่ในวังด้วย โดยที่ไม่ทรงคิดจริงจัง เจ้าชายก็ตกลงตามความต้องการของนาง เพียงเพื่อจะให้ได้ว่าวกลับคืนมาเท่านั้น หลังจากได้ว่าวแล้วเจ้าชายปิ่นทองก็หายเงียบไปโดยไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับนาง แก้วรอเจ้าชายเป็นเวลาหลายวันแต่ก็ไม่เห็นเงาของพระองค์ ดังนั้นนางจึงอ้อนวอนให้บิดามารดาของนางไปเข้าเฝ้าพระราชา และทูลถามพระองค์เกี่ยวกับสัญญาที่พระโอรสของพระองค์ให้ไว้กับนาง
แรกที่เดียว สองสามีภรรยาก็บอกให้ลูกสาวของตนเสงี่ยมเจียมตัว แต่แก้วก็ล้มป่วยลงเพราะไม่ยอมกินอะไร บิดามารดาของนางกลัวลูกสาวจะอดข้าวตาย จึงต้องไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ ซึ่งก็ทำให้พระองค์ทรงพิโรธในทันทีที่ได้ทราบเรื่อง อย่างไรก็ตามพระราชินีทรงมีเมตตาต่อพวกเขา และสัญญาว่าจะถามพระโอรสเกี่ยวกับคำสัญญาส่งเดชนี้ให้ หลังจากได้รับการกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดจากพระโอรสของนางแล้ว พระราชินีก็รับสั่งให้เจ้าชายรักษาคำพูด และดังนั้นจึงส่งนางกำนัลให้ไปรับแก้วเข้าวัง แต่แก้วปฏิเสธที่จะมาเพราะว่านางต้องการนั่งวอทอง ที่ใช้โดยพระบรมวงศ์ของกษัตริย์ หลังจากได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา แล้วแก้วก็มาอยู่ในวัง ซึ่งก็ไม่ได้ให้ความสุขดังที่ตนคาดหวังไว้ เพราะเจ้าชายไม่เคยขอนางแต่งงาน
วันหนึ่ง พระเจ้าภูวลดรับสั่งให้แก้วเข้าเฝ้าและทรงตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าหากนางสามารถนำภูเขาพระสุเมรุมาประพระราชอุทยานได้ และแล้วพระองค์ก็จะจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางกับเจ้าชายปิ่นทอง แต่ว่าถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ นางก็จะได้รับโทษประหารชีวิต ด้วยความดีใจอย่างยิ่งแก้วตอบตกลงโดยไม่ทันคิดให้รอบคอบ และออกเดินทางไกลเพื่อหาเขาพระสุเมรุถึงแม้ว่านางจะเดินผ่านมาหลายดงพงไพร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายมากมาย แก้วก็ยังไม่เห็นแม้แต่เขาที่ว่านั้น ด้วยความอิดโรยจากการเดินทางที่แสนจะลำบากแก้วล้มลงกับพื้นและหมดสติไป
หลังจากฟื้นคืนสตินางก็ได้พบพระฤๅษีผู้ซึ่งรู้สึกสงสารนาง เพราะนางไร้เดียงสาเกินไปที่จะล่วงรู้ถึงกลลวงได้พระฤๅษีจึงตัดสินใจช่วยนาง และด้วยอำนาจเวทมนต์วิเศษของตน ตอนนี้แก้วก็สามารถถอดหน้ากากม้าออกได้ และปรากฏเป็นสาวสวยเมื่อไรก็ได้ พระฤๅษียังได้มอบหนังสือซึ่งสามารถกลายเป็นเรือเหาะหรืองูก็ได้และไม้เท้าซึ่งสามารถแปลงเป็นมีดวิเศษได้ และแล้วพระฤๅษีก็บอกให้นางนำมาเพียงก้อนหินเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง จากภูเขาพระสุเมรุแล้วนำไปวางไว้ในพระราชอุทยานเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เพราะราชาไม่ได้เอ่ยถึงภูเขาทั้งลูก หลังจากวางก้อนหินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งในพระราชอุทยานแล้ว แก้วก็กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระราชาก็ได้แต่เงียบขรึม เมื่อทรงทราบความจริงแล้ว พระราชินีก็รับสั่งให้จัดพิธีอภิเษกสมรสตามสัญญาที่ให้ไว้กับแก้ว ซึ่งก็สร้างความไม่พอพระทัยให้กับพระราชาและเจ้าชายอย่างยิ่ง
 ต่อมาภายหลัง พระราชาก็ทรงดำริถึงแผนการอื่นที่จะกำจัดแก้ว พระองค์จึงส่งพระราชสาสน์ไปยัง พระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์ผู้ครองเมืองโรมวิถี เพื่อขอพระธิดาของพระองค์ ซึ่งพระนามว่า ทัสมาลี ให้เจ้าชายปิ่นทอง พระเจ้าพรหมทัตตอบตกลง และกำหนดวันสำหรับโอกาสอันเป็นมงคล เมื่อเจ้าชายปิ่นทองเตรียมเดินทางออกจากเมืองโดยเรือ แก้วก็มาแสดงความไม่พอใจต่อพระองค์ และตำหนิพระองค์ว่าไม่มีความซื่อสัตว์ต่อนาง เจ้าชายโกรธมากและสั่งให้แก้วมีโอรสให้ตนให้ได้พระองค์ต้องการเห็นโอรสของพระองค์เมื่อเสด็จกลับมา และถ้าหากแก้วมีโอรสให้พระองค์ไม่ได้นางก็จะถูกประหารชีวิต แก้วเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตนจะมีโอรสให้เจ้าชาย โดยไม่มีการหลับนอนกันเลยได้อย่างไร
ถึงแม้ว่าจะรู้สึกสิ้นหวังแต่ก็มีจิตใจแน่แน่วที่จะแก้เผ็ดเจ้าชายให้จงได้ เพื่อรับคำท้าของเจ้านาย นางออกจากเมืองและไปยังเมืองโรมวิถีโดยอาศัยเรือเหาะของตน หลังจากถอดหน้ากากหน้าม้าออกแล้ว แก้วก็ไปอาศัยอยู่กับตายายใกล้แม่น้ำนอกเมือง วันหนึ่งในขณะอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำ เจ้าชายปิ่นทองก็ได้มาพบนางเข้าและหลงใหลในความงามของนางในขณะที่ชายาใหม่ของพระองค์กำลังบรรทมอยู่นั้น เจ้าชายก็แอบออกมาจากวังและแต่งกายเป็นชาวบ้านมาเกี๊ยวพาราสีแก้ว ผู้ซึ่งก็พร้อมจะเป็นชายาของพระองค์อยู่แล้วเพราะต้องการมีลูกกับพระองค์ ทั้งคู่อยู่ด้วยกันจนกระทั่งแก้วตั้งครรภ์ ก่อนที่จะจากไปเจ้าชาย ได้มอบแหวนให้นางไว้แล้วเสด็จกลับเมืองมิถิลาโดยไม่ได้นำเจ้าหญิงทัสมาลีไปด้วย
หลังจากคลอดบุตรชายแล้ว แก้วก็ผูกแหวนไว้กับแขนของลูกน้อยแล้วส่งไปอยู่กับพระฤๅษีซึ่งเคยช่วยเหลือตน พระฤๅษีเข้าฌานดูก็รู้ว่าเจ้าชายปิ่นทองกำลังอยู่ในอันตราย เพราะว่าถูกล้อมโดยกองทัพยักษ์นำ โดยพญายักษ์ชื่อว่า พาละราช แล้วพระฤๅษีก็แปลงแก้วให้เป็นชาย และสั่งให้นางไปช่วยเจ้าชายในทันที แก้วสามารถฆ่ายักษ์ได้สำเร็จแล้วยึดเมืองไว้ได้ พระมเหสีของพญายักษ์จึงยกธิดาผู้เลอโฉมทั้งสองพระองค์ นามว่า สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดาตามลำดับให้กับเจ้าชายปิ่นทอง แต่เจ้าชายปฏิเสธที่จะรับเพราะตนไม่ใช่ผู้ ที่ชนะศึก ดังนั้นองค์หญิงทั้งสองพระองค์จึงควรตกเป็นชายาของแก้วผู้ซึ่งรับไว้โดยไม่รีรอ
 แล้วแก้วก็บอกให้เจ้าชายปิ่นทองอยู่ในเมืองยักษ์ไปสักระยะหนึ่งก่อน ในขณะที่นางนำธิดาของยักษ์ ไปยังกระท่อมชองพระฤๅษี และบอกเรื่องราวทั้งหมดให้ทั้งสองฟัง หลังจากบอกเจ้าหญิงทั้งสองว่าตนเป็นใครแล้ว แก้วก็นำเจ้าหญิงทั้งสองไปพบเจ้าชายปิ่นทองและมอบให้เป็นชายาของเจ้าชายและแล้วแก้วก็กลับมาหาลูกที่ศาลาพระฤๅษี
หลังจากอยู่ในเมืองยักษ์มาระยะหนึ่ง เจ้าชายก็พาชายาทั้งสองกลับไปยังเมืองของพระองค์ และต้องประหลาดพระทัยที่ต้องเผชิญหน้ากับแก้ว ผู้ซึ่งนำพระโอรสของพระองค์มาถวาย แรกทีเดียวก็ไม่ทรงเชื่อ แต่แหวนที่ข้อมือของกุมารทำให้พระองค์ต้องเชื่อและรับกุมารเป็นโอรสของพระองค์ แล้วเจ้าชายก็ตั้งชื่อพระโอรสว่า ปิ่นแก้ว
เวลาต่อมาเจ้าหญิงทัสมาลีเกิดคิดถึงเจ้าชายปิ่นทอง ดั้งนั้นจึงตามมาพบพระองค์แต่ก็ต้องเจ็บใจที่พบว่า เจ้าชายแสดงความรักต่อสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดามากกว่าตน นางจึงจำใจกลับเมืองของตนด้วยความผิดหวังและเคียดแค้น
เมืองมิถิลามีความสงบสุขมานาน จนกระทั่งพระธิดาแฝดทั้งสามอายุวัยรุ่นและก็มีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นอีก ในขณะที่พระธิดาวัยรุ่นทั้งสามพระองค์กำลังพักผ่อนอิริยาบถอยู่ในพระราชอุทยาน ก็มีนกหัสดีลิงค์บินมา โฉบเอาทั้งสามพระองค์ไปด้วยนึกว่าเป็นเหยื่อ แต่ก่อนที่พระธิดาทั้งสามจะถูกนกยักษ์กลืนลงคอ พระฤๅษีซึ่ง อาศัยอยู่บริเวณนั้นก็ออกมาช่วยไว้ทันและมีความสงสารในพระธิดาทั้งสามอย่างมาก จึงช่วยสั่งสอนวิชาอาคมให้จนเก่ง
ในเวลานั้น มีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองโรมจักร ปกครองโดยท้าวทศมิตร ท้าวเธอมีโอรสวัยรุ่น 3 องค์คือ ทินกร ศรนรินทร์ และสินนรา ตามลำดับวันหนึ่งในขณะที่เจ้าชายทั้งสามประพาสไปทางทะเลเรือของทั้งสามพระองค์ถูกพายุใหญ่พัดจมลง โชคดีที่พญานาคใจบุญมาช่วยไว้ และให้พิษใส่ไว้ในกายของทั้งสาม เพื่อใช้ป้องกันตัวเมื่อเผชิญกับอันตราย แล้วเจ้าชายทั้งสามก็กราบลาพญานาค และขอบคุณสำหรับความเมตตาแล้วก็ออกเดินทางผ่านป่าดงพงไพร่ต่อไป
ในขณะเดียวกัน หลังจากที่ได้สั่งสอนวิชาอาคมให้เจ้าหญิงทั้งสามแล้ว พระฤๅษีทั้งสามแล้ว พระฤๅษี ก็ตัดสินใจหาสามีที่เหมาะสมให้กับนางทั้งสามแล้ว ท่านฤๅษีก็ประกาศว่าผู้ใดที่สามารถเอาชนะเจ้าหญิงองค์ใดได้ ก็จะได้เป็นพระสวามีของเจ้าหญิงพระองค์นั้น ผู้ที่เข้าแข่งขันซึ่งรวมถึงมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ก็ไม่สาเอาชนะองค์หญิงได้ เมื่อเจ้าชายทั้งสามได้ข่าวการแข่งขันก็ได้เข้าร่วมด้วยผลปรากฏว่าเจ้าชายทั้งสามมีฝีมือเท่ากับเจ้าหญิงทั้งสาม เนื่องจากไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะในการต่อสู้กัน พระฤๅษีคิดว่าทั้งหมดเป็นเนื้อคู่กัน
ในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าหญิงทัสมาลีก็ประสูติพระโอรสพระนามว่า เจ้าชายปิ่นศิลป์ไชย ผู้ซึ่งถูกส่งไป ศึกษาวิชาอาคมกับอาจารย์ในเมืองของตน เมื่อโอรสของพระนางเจริญวัยแล้วเจ้าหญิงทัสมาลีก็คิดถึงเจ้าชายปิ่นทองขึ้นมา จึงให้อาจารย์ทำเสน่ห์ให้เพื่อทำให้เจ้าชายหลงรักมากจนกระทั่งไม่สามารถจะอยู่อย่างสงบได้ เจ้าชายจึงขโมยเรือเหาะ มีดวิเศษและหน้ากากม้าจากแก้วแล้วมุ่งหน้าสู่เมืองโรมวิถี
เมื่อรู้ความจริง แก้วก็ยกทัพไปยังเมืองโรมวิถีและต้องการตัวเจ้าชายปิ่นทองกลับ แต่เจ้าหญิงทัสมาลีปฏิเสธ และส่งโอรสของนางไปสู้กับแก้ว ในช่วงแรกแก้วได้เปรียบ แต่เจ้าชายปิ่นศิลป์ไชยขอให้อาจารย์ของ ตนช่วย และคราวนี้แก้วแพ้และถูกจับตัว เพื่อช่วยเหลือแก้วพระเจ้าภูดลจึงส่งเจ้าชายปิ่นแก้วไปช่วยมารดาของเจ้าชายเอง ในขณะออกเดินทางไปช่วยมารดาเจ้าชายปิ่นแก้วก็ได้พบกับเจ้าชายทั้งสามผู้ซึ่งความจริงเป็นน้อง เขยของพระองค์เอง แต่เนื่องจากทั้งสามไม่รู้จักเจ้าชายปิ่นแก้ว จึงเกิดสู้รบกันขึ้นแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าชายปิ่นแก้วได้ ทั้งสามจึงกลับไปบอกภรรยาของตนผู้ซึ่งต่อมารู้ว่าศัตรูที่ว่านั้น คือ พระเชษฐาของพวกตน หลังจากทราบข่าวเกี่ยวกับมารดาของพวกตน เจ้าหญิงทั้งสามพร้อมทั้งพระสวามีจึงร่วมมือกับเจ้าชายปิ่นแก้วทำสงครามกับเมืองโรมวิถี
หลังจากสงครามสงบลง หมอทำเสน่ห์ถูกจับตัวได้และสารภาพผิด ในขณะที่เจ้าชายปิ่นศิลป์ไชยหนี ไปได้ เจ้าหญิงทัสมาลีเองก็จะต้องโทษประหาร ถ้าหากว่าพระบิดาของนางไม่ขอร้อง พระเมตตาจากเจ้าชาย ปิ่นทอง ในขณะเสด็จกลับเมืองมิถิลา เจ้าชายปิ่นแก้วก็ได้พบกับเจ้าชายปิ่นศิลป์ไชยผู้ซึ่งถูกทหารของตนล้อมอยู่ เจ้าชายปิ่นแก้วจึงบอกให้ยอมมอบตัวและลืมเรื่องในอดีตเสีย เพราะต่างก็เป็นพี่น้องกัน เจ้าชายปิ่นศิลป์ไชย จึงขอให้พระเชษฐาอภัยโทษให้ แล้วก็ร่วมเดินทางไปยังเมืองของพระบิดา ทั้งหมดก็อยู่ในเมืองมิถีลาอย่างมีความสุข 

ตำนานรักสะพานสารสิน

ตำนานรักสะพานสารสิน


สะพานสารสิน เป็นสะพานที่สร้างข้ามช่องปากพระเพื่อเชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตตรงบริเวณท่าฉัตรไชยกับท่านุ่น จังหวัดพังงา  มีความยาวทั้งหมด 660 เมตร กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง เปิดใช้เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 สิ้นงบประมาณ 28,770,000 บาท สะพานนี้ให้ชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น ปัจจุบันนี้ สะพานสารสินได้กำหนดให้ใช้เป็นสะพานขาออกจากจังหวัดภูเก็ต
ตำนานรักสะพานสารสิน เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตโศกนาฏกรรมของหนุ่มสาว 2 คนที่ตัดสินปัญหาด้วยการใช้ผ้าขาวม้าผูกต่อกันมัดตัวเองกระโดดจากกลางสะพานลงสู่พื้นน้ำในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516  เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มหญิงสาวที่แตกต่างกัน ด้วยชาติตระกูลและฐานะทางสังคม
 ฝ่ายหญิงชื่อ "อิ๋ว" เป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู ส่วนฝ่ายชายชื่อ "โกไข่" เป็นเพียงคนขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง พ่อเลี้ยงอิ๋วแบบเผด็จการไม่ให้อิสระ และต้องการให้แต่งงานกับคนมีฐานะ จึงถูกขัดขวางความรักอย่างหนัก ทั้งสองคนพยายามต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้รักของเธอและเขาสมหวัง 
ความรักที่เหมือนนิยายน้ำเน่าของหนุ่มขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง ที่มีฐานะยากจนมาก แต่กลับไปหลงรักกับหญิงสาวที่มีฐานะสูงส่งและมีพื้นฐานครอบครัวที่เผด็จการ ไม่ให้อิสระทางความคิดกับลูกสาว แม้ว่าลูกสาวโตจนมีอาชีพเป็นครูแล้วก็ยังถูกกีดขวางจากผู้เป็นพ่อ ที่พยายามจะคลุมถุงชนลูกสาวให้แต่งงานกับชายหนุ่มที่มีฐานะดี และพยายามขัดขวางทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกสาวได้คบกับโกไข่ หนุ่มขับรถสองแถว  
 หลังจากที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะพิสูจน์ให้ผู้เป็นพ่อได้เห็นถึงความตั้งใจและความรักที่ทั้ง 2 มีให้แก่กัน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เป็นผล เมื่อผู้เป็นพ่อของฝ่ายหญิงไม่ยอมเปิดใจรับ หลายครั้งที่อิ๋วฝ่ายหญิง ถูกผู้เป็นพ่อทุบตีเยี่ยงสัตว์เพราะแอบมาพบเจอกับโกไข่ หนุ่มขับรถสองแถว และผู้เป็นพ่อก็พยายามทุกวิถีทางที่จะยัดเยียดลูกสาวให้กับเศรษฐีมีเงิน 
ชาวบ้านท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต ต่างก็ทราบดีถึงความรักที่มีอุปสรรคของหนุ่มสาวทั้งสอง หลายคนพยายามแนะนำให้โกไข่เลิกกับครูอิ๋ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทั้งคู่ และผู้ใหญ่หลายคนพยายามพูดคุยกับพ่อของครูอิ๋ว เพื่อที่จะให้ยอมรับโกไข่ เป็นลูกเขย แต่ไม่ได้รับการยินยอม ไม่ว่าจะทำด้วยวิถีทางใด 
ในที่สุดเมื่อความรักถึงทางตัน 22 กุมภาพันธ์ 2516 โกไข่ นายหัวรถสองแถวและครูอิ๋ว สาวผู้สูงศักดิ์ ก็ได้ตัดสินใจเอาผ้าขาวม้าผูกมัดตัวทั้งสองติดกัน แล้วกระโดดจากกลางสะพานลงสู่พื้นน้ำ ทิ้งเรื่องราวความรักที่เป็นอมตะ ให้ผู้คนได้กล่าวขานถึงปัจจุบันนี้ 
ตำนานรักสะพานสารสิน เป็นบทเรียนแห่งความรักอีกบทหนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในตำนานคู่เมืองภูเก็ต แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักกี่ยุคกี่สมัย ตำนานเหล่านี้ก็ต้องบันทึกไว้และเป็นบทเรียน ที่ทุกคนควรศึกษาและเข้าใจความหมายของคำว่า รักที่แท้จริง เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางใการดำเนินชีวิตต่อไป 

หอนางอุษา

หอนางอุษา


            มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองพานมีพระยาพานปกครอง วันหนึ่งได้เสด็จออกประพาสป่า ได้พบกับนางอุสา ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาน่าเอ็นดูและได้ขอนางกับพระฤาษีมาเลี้ยงเป็นลูก เมื่อนางอุสาเติบโตเป็นสาวมีความงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ กล่าวถึงท้าวบารสพระราชบุตรของเจ้าเมืองปะโค ได้เสด็จออกประพาสป่าจนมาถึงต้นไทรใหญ่ได้หยุดพักผ่อน และได้ตั้งเครื่องเซ่นสังเวยเทวดา เมื่อเหล่าเทวดาอารักษ์ได้รับเครื่องเซ่นไหว้ก็คิดตอบแทนน้ำใจของท้าวบารส โดยขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับพักผ่อนกัน ในป่าเทวดาได้อุ้มเอาท้าวบารสไปไว้ในหอของนางอุสา เมื่อทั้งสองได้พบกันก็มีความพอใจกันอยู่ด้วยกันเป็นเวลา ๗ คืน พอคืนวันที่ ๘ ขณะที่นางอุสาและท้าวบารสกำลังหลับอยู่นั้น เทวดาได้มาอุ้มท้าวบารสกลับไปที่ต้นไทรใหญ่เหมือนเดิม เมื่อท้าวบารสตื่นขึ้นมาคิดว่าตัวเองฝันไปและคิดถึงนางอุสาอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายนางอุสาเมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบท้าวบารสก็ได้สอบถามและสืบทราบว่าชายผู้มาอยู่กับนางนั้นคือท้าวบารสพระราชบุตรแห่งเมืองปะโค นางจึงเขียนสาสน์ไปถึงท้าวบารส เมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้งก็ยินดียิ่งและอยู่ร่วมกันที่หอนางอุสาร่วมหนึ่งเดือน ความทราบถึงพระยาพาน ทรงพิโรธมากและได้จับตัวท้าวบารสนำไปขังไว้ ความทราบถึงเจ้าเมืองปะโคจึงได้เขียนสาสน์ไปถึงพระยาพานให้ปล่อยตัวท้าวบารส แต่พระยาพานไม่ยอมปล่อย จึงเกิดการทำศึกขึ้นระหว่างเมืองพานกับเมืองปะโค แล้วพระยาพานเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกฆ่าตาย นางอุสาได้ติดตามไปอยู่กับท้าวบารสที่เมืองปะโค แต่ได้รับความชอกช้ำใจมากเพราะท้าวบารสไม่เอาใจใส่นางดังเคย จึงหนีกลับเมืองพานและเฝ้าคิดถึงท้าวบารสจนล้มป่วยและสิ้นใจตาย ฝ่ายท้าวบารสได้ติดตามมาหานางอุสาที่เมืองพาน แต่มาช้าไปจึงรู้สึกสำนึกผิดต่อนางอุสา พระยาพาน และชาวเมืองพาน ท้าวบารสเสียใจเป็นที่สุดจึงล้มลงขาดใจตายตามไปด้วย ด้วยความรักที่ทุกคนมีต่อกันอย่างบริสุทธิ์ จึงเป็นผลบุญให้ดวงวิญญาณไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์