กติกาเซปักตะกร้อ
ของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (ISTAF)
ข้อ 1. สนามแข่งขัน (THE COURT)
1.1 สนาม พื้นที่ของสนามมีความยาว 13.40 เมตร และกว้าง 6.10 เมตร จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ วัดจากพื้นสนามสูงขึ้นไป 8 เมตร (พื้นสนามไม่ควรเป็นหญ้าหรือสนามทราย)
1.2 เส้นสนาม ขนาดของเส้นสนามทุกเส้นที่เป็นขอบเขตของสนามต้องไม่กว้างกว่า 4 เซนติเมตรให้ตีเส้นจากขอบนอกเข้ามาในสนามและถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นสนามแข่งขันด้วย
เส้นเขตสนามทุกเส้นต้องห่างจากสิ่งกีดขวางอย่างน้อย 3 เมตร
1.3 เส้นกลาง มีขนาดความกว้างของเส้น 2 เซนติเมตร โดยจะแบ่งพื้นที่ของสนามออกเป็นด้านซ้ายและขวาเท่าๆกัน
1.4 เส้นเสี้ยววงกลม ที่มุมสนามของแต่ละด้านตรงเส้นกลาง
ให้จุดศูนย์กลางอยู่ที่กึ่งกลางของเส้นกลาง ตัดกับเส้นขอบนอกของเส้นข้าง เขียน
เส้นเสี้ยววงกลมทั้งสองด้าน รัศมี 90 เซนติเมตร ให้ตีเส้นขนาดวามกว้าง 4 เซนติเมตร นอกเขตรัศมี 90เซนติเมตร
1.5 วงกลมเสิร์ฟ ให้มีรัศมี 30 เซติเมตร
โดยวัดจากขอบด้านนอกของเส้นหลังเข้าไปในสนามยาว2.45 เมตร
และวัดจากเส้นข้างเข้าไปในสนามยาว 3.05 เมตร
ใช้ตรงจุดตัดจากเส้นหลังและเส้นข้างเป็นจุดศูนย์กลาง ให้เขียนเส้นวงกลมขนาดความกว้าง 4 เซนติเมตร นอกเขตรัศมี 30 เซนติเมตร
ข้อ 2 เสา (THE POST)
2.1 เสามีความสูง 1.55 เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.45 เมตร) เสาให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคงพอที่จะทำให้ตาข่ายตึงได้
โดยเสาต้องทำจากวัตถุที่มีความแข็งแกร่ง และรัศมีไม่เกิน 4 เซนติเมตร
2.2 ตำแหน่งของเสา
ให้ตั้งหรือวางไว้อย่างมั่นคงนอกสนามตรงกับแนวเส้นกลางห่างจากเส้นข้าง 30 เซนติเมตร
ข้อ 3 ตาข่าย (THE NET)
3.1 ตาข่ายให้ทำด้วยเชือกอย่างดีหรือไนล่อน
มีรูตาข่าย กว้าง 6-8 เซนติเมตร มีความกว้างของผืนตาข่าย 70 เซนติเมตร และความยาวไม่น้อยกว่า 6.10 เมตร ให้มีวัสดุที่ทำเป็นแถบ ขนาดความกว้าง 5 เซนติเมตร ตรงด้านข้างของตาข่ายทั้งสองด้านจากบนถึงล่างตรงกับแนวเส้นข้างซึ่งเรียกว่า “แถบแสดงเขตสนาม”
3.2 ตาข่ายให้มีแถบหุ้มขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ทั้งด้านบนและด้านล่าง
โดยมีลวดหรือเชือกไนล่อนอย่างดีร้อยผ่านแถบและขึงตาข่ายให้ตึงเหนือระดับเสาได้ความสูงของตาข่าย
โดยวัดจากพื้นถึงส่วนบนของตาข่ายที่กึ่งกลางสนาม มีความสูง 1.52เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.42 เมตร) และวัดตรงเสาทั้งสองด้าน มีความสูง 1.55 เมตร (สำหรับผู้หญิง 1.45 เมตร)
ข้อ 4 ลูกตะกร้อ (THE SEPAKTAKRAW BALL)
ลูกตะกร้อต้องมีลักษณะเป็นลูกทรงกลม ทำด้วยหวายหรือใยสังเคราะห์ชั้นเดียว
มี 12 รู กับ 20 จุดตัดไขว้
หากทำด้วยหวายต้องมีจำนวน 9-11 เส้น
ขนาดของเส้นรอบวงต้องไม่น้อยกว่า 42 เซนติเมตร และไม่มากกว่า 44 เซนติเมตร (สำหรับผู้หญิง 43-45 เซนติเมตร) น้ำหนักก่อนใช้แข่งขันต้องไม่น้อยกว่า 170 กรัม และไม่เกินกว่า 180 กรัม (สำหรับผู้หญิง 150-160 กรัม)
ข้อ 5 ผู้เล่น (THE PLAYERS)
5.1 การแข่งขันมี 2 ทีม ประกอบไปด้วยผู้เล่นฝ่ายละ 3 คน
5.2 ผู้เล่นคนหนึ่งในสามคนจะเป็นผู้เสิร์ฟ
และอยู่ด้านหลัง เรียกว่า “ผู้เสิร์ฟ” (SERVER)
5.3 ผู้เล่นอีกสองคนอยู่ด้านหน้า
โดยคนหนึ่งจะอยู่ด้านซ้ายและอีกคนหนึ่งจะอยู่ด้านขวา คนที่อยู่ด้านซ้าย เรียกว่า
หน้าซ้าย (LEFT INSIDE) และคนที่อยู่ด้านขวา เรียกว่า
หน้าขวา (RIGHT INSIDE)
ข้อ 6 เครื่องแต่งกายของผู้เล่น (PLAYER’S ATTIRE)
6.1 สำหรับชาย
ต้องสวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น
(สำหรับผู้หญิงให้สวมเสื้อยืดคอกลมมีแขนและกางเกงขาสั้นที่มีความยาวระดับเข่า)
และรองเท้ากีฬาพื้นยาง
ห้ามผู้เล่นสวมสิ่งอื่นใดที่จะเป็นอันตรายแก่ฝ่ายตรงข้ามในระหว่างการแข่งขัน
กรณีที่อากาศหนาวอนุญาตให้ผู้เล่นสวมเสื้อชุดวอร์มแข่งขันได้
6.2 ส่วนต่างๆ
ของเครื่องแต่งกายของผู้เล่นถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
และเสื้อจะต้องอยู่ในกางเกงตลอดเวลาการแข่งขัน
6.3 สิ่งใดก็ตามที่ช่วยเร่งความเร็วของลูกตะกร้อหรือช่วยในการเคลื่อนที่ของผู้เล่น
ไม่อนุญาตให้ใช้
6.4 หัวหน้าทีม
(CAPTAIN) จะต้องใสปลอกแขน ที่แขนเสื้อด้านซ้าย
6.5 เสื้อของผู้เล่นทุกคนจะต้องติดหมายเลขที่ด้านหลังให้เห็นได้ชัดเจน
ให้แต่ละทีมใช้หมายเลข 1-15 เท่านั้น
โดยมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 19 เซนติเมตร ซึ่งกำหนดให้ผู้เล่นจะต้องมีหมายเลขเพียงหมายเลขเดียวตลอดการแข่งขัน (TOURNAMENT)
ข้อ 7 การเปลี่ยนตัวผู้เล่น (SUBSTITUTION)
7.1 ผู้เล่นคนใดที่ลงแข่งขันในแต่ละทีมหรือได้เปลี่ยนตัวไปแล้วจะไม่อนุญาตให้ลงแข่งขันในทีมอื่นๆ
อีกสำหรับการแข่งขันประเภททีมชุด (TEAM) เฉพาะครั้งนั้นๆ
7.2 การเปลี่ยนตัวผู้เล่นจะกระทำในเวลาใดก็ได้
โดยผู้จัดการทีมยื่นขอต่อกรรมการประจำสนาม (OFFICIAL REFEREE)
เมื่อลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น (ลูกตาย)
7.3 แต่ละทีมเดี่ยว
(REGU) มีผู้เล่นสำรองไม่เกิน 2 คน แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 1 คน
เท่านั้น
7.4 ผู้เล่นคนใด
ถูกผู้ตัดสินให้ออกจากการแข่งขัน จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นได้
ถ้าหากว่ายังมิได้มีการเปลี่ยนตัว
7.5 ทีมเดี่ยวใด
(REGU) มีผู้เล่นน้อยกว่า 3 คน
จะไม่ให้การแข่งขันดำเนินต่อไป และปรับให้แพ้การแข่งขัน
ข้อ 8 เจ้าหน้าที่ (OFFICIALS)
กีฬาเซปักตะกร้อ
มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแข่งขัน ดังต่อไปนี้
8.1 กรรมการประจำสนาม 1 คน (OFFICIAL REFEREE)
8.2 กรรมการผู้ตัดสิน 2 คน (UMPIRES) (ผู้ตัดสิน 1 คน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน 1 คน)
8.3 ผู้กำกับเส้น 6 คน (LINESMEN) (กำกับเส้นข้าง 4 คน และกำกับเส้นหลัง 2 คน)
ข้อ 9 การเสี่ยงและการอบอุ่นร่างกาย (THE COIN TOSS & WARM UP)
ก่อนเริ่มการแข่งขัน กรรมการผู้ตัดสินกระทำการเสี่ยง
ผู้ชนะการเสี่ยงมีสิทธิเลือกส่งลูกหรือเลือกแดนก็ได้
ทีมที่ชนะการเสี่ยงจะเป็นทีมที่อบอุ่นร่างกายในสนามก่อนเป็นเวลา 2 นาที แล้วตามด้วยทีมที่เหลืออยู่ด้วย ด้วยลูกตะกร้อที่ใช้แข่งขัน และให้มีบุคคลอยู่ในสนามได้ 5 คนเท่านั้น
ข้อ 10 ตำแหน่งของผู้เล่นระหว่างการส่งลูก (POSITION OF PLAYERS DURING
SERVICE)
10.1 เมื่อเริ่มเล่น
ผู้เล่นทั้งสองทีม ต้องยืนอยู่ในที่กำหนดไว้ในแดนของตนในลักษณะที่เตรียมพร้อม
10.2 ผู้เสิร์ฟ
ต้องวางเท้าข้างหนึ่งอยู่ในวงกลมเสิร์ฟ
10.3 ผู้เล่นหน้าทั้งสองคนของฝ่ายเสิร์ฟ
จะต้องอยู่ในเสี้ยววงกลมของตนเอง
10.4 ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
จะยืนอยู่ที่ใดก็ได้ในแดนของตนเอง
ข้อ 11 การเริ่มเล่นและการส่งลูก (THE START OF PLAY & SERVICE)
11.1 การเริ่มเล่น
ให้ฝ่ายที่ต้องส่งลูกเป็นฝ่ายส่งลูกก่อนในเซตที่ 1 ทีมที่ชนะในเซตที่ 1 จะได้รับสิทธิ์เลือกการเสิร์ฟในเซตที่ 2
11.2 เมื่อกรรมการผู้ตัดสินขานคะแนนแล้วถือเป็นการเริ่มเล่น
ผู้โยนต้องโยนลูกตะกร้อออกไปให้ผู้เสิร์ฟเสิร์ฟลูก
หากผู้โยนโยนลูกตะกร้อออกไปก่อนกรรมการผู้ตัดสินขานคะแนนต้องโยนใหม่และจะต้องเตือนผู้โยนคนนั้น
11.3 ระหว่างการเสิร์ฟ
ในทันทีที่ผู้เสิร์ฟได้เตะลูกตะกร้อแล้ว
ผู้เล่นทุกคนสามารถเคลื่อนที่ได้ในแดนของตน
11.4 การเสิร์ฟที่ถูกต้อง
เมื่อลูกตะกร้อได้ข้ามไปยังฝ่ายตรงข้ามระหว่างแถบแสดงเขตสนามไม่ว่าจะสัมผัสตาข่าย
หรือไม่ก็ตาม และได้ตกสู่พื้นอยู่ในขอบเขตสนาม
ข้อ 12 การผิดกติกา (FAULTS)
12.1 สำหรับผู้เล่นฝ่ายเสิร์ฟ
ระหว่างการเสิร์ฟ
12.1.1 ผู้เล่นหน้า
คนทำหน้าที่โยนลูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่โยนลูกให้ผู้เสิร์ฟเตะส่งลูก เช่น
โยนลูกเล่น เคาะลูกเล่น โยนลูกให้ผู้เล่นหน้าอีกคนหนึ่ง ฯลฯ
หลังจากผู้ตัดสินขานคะแนนแล้ว
12.1.2 ผู้เล่นหน้า ยกเท้า หรือเหยียบเส้น หรือ
ถูกตาข่ายหรือส่วนของร่างกายล้ำเข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้ามขณะที่โยนส่งลูก
12.1.3 ผู้เสิร์ฟ
กระโดดเสิร์ฟในขณะเตะส่งลูก
12.1.4 ผู้เสิร์ฟ
ไม่ได้เตะลูกที่ผู้โยน โยนไปให้เพื่อเสิร์ฟ
12.1.5 ลูกตะกร้อถูกผู้เล่นคนอื่นก่อนข้ามตาข่าย
12.1.6 ลูกตะกร้อข้ามตาข่ายแล้วตกนอกเขตพื้นที่สนาม
12.1.7 ลูกตะกร้อไม่ข้ามตาข่าย
12.2 สำหรับผู้เล่นฝ่ายรับระหว่างการเสิร์ฟ
เจตนากระทำในลักษณะทำให้ฝ่ายเสิร์ฟเสียสมาธิ หรือส่งเสียงรบกวน หรือร้องตะโกน
12.3 สำหรับผู้เล่นทั้งสองฝ่ายระหว่างแข่งขัน
12.3.1 ถูกลูกตะกร้อในแดนฝ่ายตรงข้าม
12.3.2 ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายล้ำเข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม
ไม่ว่าจะเป็นด้านบน หรือด้านล่างของตาข่าย ยกเว้นการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง (FOLLOW THROUGH ) ภายหลังการเล่นลูก
12.3.3 เล่นลูกเกินกว่า 3 ครั้ง
12.3.4 ลูกถูกมือ
หรือแขน
12.3.5 หยุดลูกหรือยึดลูกไว้ใต้แขน
ระหว่างขาหรือลำตัว
12.3.6 ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย หรืออุปกรณ์ของเครื่องแต่งกายผู้เล่น เช่น
รองเท้า เสื้อ ผ้าพันศีรษะ ฯลฯ ถูกตาข่าย หรือเสา หรือเก้าอี้ผู้ตัดสิน
หรือตกลงบนพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม
12.3.7 ลูกตะกร้อถูกเพดาน
หลังคา หรือผนัง หรือสิ่งกีดขวางอื่น
12.3.8 ผู้เล่นถ่วงเวลาโดนเจตนา
ข้อ 13 การนับคะแนน (SCORING SYSTEM)
13.1 ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสิร์ฟ หรือฝ่ายรับก็ตาม เมื่อมีการทำผิดกติกาเกิดขึ้น (FAULT) ฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนนทันทีและจะเป็นฝ่ายเสิร์ฟต่อไป
13.2 ทีมที่ชนะการแข่งขันในแต่ละเซต จะต้องทำคะแนนได้ 21 คะแนน แต่ถ้าคะแนนเท่ากันที่ 20-20 ผู้ชนะ
จะต้องมีคะแนนต่างกัน 2 คะแนน
และคะแนนสูงสุดไม่เกิน 25 คะแนน เมื่อคะแนน 20 เท่า ผู้ตัดสินต้องขานว่า “ดิวส์คู่ไม่เกิน25 แต้ม”
13.3 การแข่งขันจะต้องชนะกัน 2 เซต
โดยมีการพักระหว่างเซต 2 นาที
13.4 ถ้าแต่ละทีมชนะกันทีมละ 1 เซต
จะต้องทำการแข่งขันในเซตที่ 3 ซึ่งเรียกว่า “ไทเบรค” (TIEBREAK)
โดยแข่งขัน 15 คะแนน แต่ถ้าคะแนนเท่ากันที่ 14-14 ผู้ชนะจะต้องมีคะแนนต่างกัน 2 คะแนน
และคะแนนสูงสุดไม่เกิน 17คะแนน เมื่อคะแนน 14 เท่า ผู้ตัดสินต้องขานว่า “ดิวส์คู่ไม่เกิน 17 แต้ม”
13.5 ก่อนเริ่มการแข่งขันในเซตที่ 3 ผู้ตัดสินต้องทำการเสี่ยง
ผู้ชนะในการเสี่ยงมีสิทธิเลือกการเสิร์ฟ
และให้มีการเปลี่ยนแดนเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ 8 คะแนน
ข้อ 14 การขอเวลานอก (TIME OUT)
แต่ละทีม (REGU) สามารถขอเวลานอกได้เซตละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 นาที โดยให้ผู้จัดการทีม
หรือผู้ฝึกสอน ขอเวลานอกต่อกรรมการผู้ตัดสิน เมื่อลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น
และให้มีบุคคลในระหว่างการขอเวลานอกได้ 5 คน
ที่บริเวณท้ายสนามของแต่ละด้าน
ข้อ 15 อุบัติเหตุและการหยุดการแข่งขัน (TEMPORARY
SUSPENSION OF PLAY)
15.1 กรรมการผู้ตัดสินสามารถหยุดการแข่งขันได้ไม่เกิน 5 นาที เนื่องจากมีสิ่งกีดขวาง หรือรบกวนการแข่งขัน
หรือผู้เล่นเกิดการบาดเจ็บ และต้องได้รับการดูแลในทันที
15.2 การหยุดพักสำหรับผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บถือเป็นเวลานอกสำหรับการบาดเจ็บ
อนุญาตให้หยุดพักการแข่งขันได้ไม่เกิน 5 นาที
ภายหลังจากหยุดพัก 5 นาทีแล้ว
ผู้เล่นคนนั้นไม่สามารถทำการแข่งขันต่อไปได้จะให้ทำการเปลี่ยนตัวผู้เล่นนั้น
ถ้าหากกรณีที่ได้เปลี่ยนตัวผู้เล่นไปแล้วให้ปรับทีมนั้นแพ้
และให้ฝ่ายตรงข้ามชนะในการแข่งขันครั้งนี้
15.3 ในระหว่างการหยุดการแข่งขัน ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในสนามแข่งขัน
และไม่อนุญาตให้ดื่มน้ำ หรือได้รับการช่วยเหลือใดๆ
ข้อ 16 วินัย และมารยาทในการแข่งขัน (DISCIPLINE)
16.1 ผู้เล่นทุกคนต้องปฏิบัติตามกติกาการแข่งขัน
16.2 ในระหว่างการแข่งขันจะอนุญาตให้หัวหน้าทีมเท่านั้นที่เป็นผู้ติดต่อหรือซักถามต่อกรรมการผู้ตัดสิน
ข้อ 17 ความผิด และบทลงโทษ (PENALTY)
17.1 ความผิดที่ถูกตักเตือน
ผู้เล่นที่กระทำผิดจะถูกเตือน
และได้รับบัตรเหลืองใน 6 กรณีดังต่อไปนี้
17.1.1 ปฏิบัติตนไม่มีน้ำใจนักกีฬา
17.1.2 แสดงกิริยา
และวาจา ที่ไม่สุภาพ
17.1.3 ไม่ปฏิบัติตามกฎ
กติกาการแข่งขัน
17.1.4 ถ่วงเวลาการแข่งขัน
17.1.5 เข้าหรือออกนอกสนาม
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
17.1.6 เจตนาเดินออกไปจากสนาม
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
17.2 ความผิดที่ถูกให้ออกจากการแข่งขัน
ผู้เล่นที่กระทำความผิดให้ออกจากการแข่งขัน
และได้รับบัตรแดงมี 5 กรณี ดังต่อไปนี้
17.2.1 กระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง
17.2.2 ประพฤติผิดร้ายแรงโดยเจตนาทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ
17.2.3 ถ่มน้ำลายใส่ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้อื่น
17.2.4 ทำความผิดอย่างร้ายแรง
โดยสบประมาทหรือดูถูก และแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมไปยังฝ่ายตรงข้าม
17.2.5 ได้รับการเตือนด้วยบัตรเหลืองเป็นครั้งที่ 2 ในการแข่งขันครั้งนั้น
17.3 ผู้เล่นที่กระทำผิดถูกตักเตือนหรือให้ออกจากการแข่งขัน
ไม่ว่าจะเป็นความผิดทั้งในหรือนอกสนามแข่งขัน ที่กระทำต่อคู่แข่งขัน
ผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน กรรมการผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน หรือบุคคลอื่นๆ
ให้พิจารณาลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำขึ้น
ข้อ 18 ความผิดของเจ้าหน้าที่ทีม
(MISCONDUCT OF TEAM OFFICIALS)
ในระหว่างการแข่งขัน
หากทีมหรือเจ้าหน้าที่คนใดกระทำผิดเกี่ยวกับทางวินัยและมารยาท
ทั้งในและนอกสนามแข่งขัน เจ้าหน้าที่ทีมหรือทีมนั้นๆ
จะต้องถูกพิจารณาลงโทษทางวินัย และมารยาท
ข้อ 19 บททั่วไป
(GENERAL)
ในการแข่งขันหากมีปัญหาหรือเรื่องราวใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในทุกกรณี
ซึ่งนอกเหนือจากที่มิได้ระบุไว้ในกติกาข้อใดๆ ของการแข่งขัน
ให้ถือคำตัดสินของกรรมการประจำสนามเป็นที่สิ้นสุด